ประวัติศาสตร์ไทย
ประวัติศาสตร์ไทย
เชื่อว่ามีมนุษย์อยู่อาศัยอยู่ถาวรในอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบันมาแล้วประมาณ 40,000 ปี เดิมชาวมอญ เขมรและมลายูปกครองพื้นที่ดังกล่าว โดยมีอาณาจักรใหญ่ เช่น ฟูนาน ทวารวดี หริภุญชัย จักรวรรดิเขมร และตามพรลิงก์ ส่วนบรรพบุรุษไทยสยามปัจจุบันซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มชาวไท-ไตเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในแถบเดียนเบียนฟูในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 8 และเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยในอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบันในคริสต์ศตวรรษที่ 11 รัฐของชาวไทเกิดขึ้นจำนวนมากในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ประมาณปี 1780 พ่อขุนบางกลางหาวรวบรวมกำลังกบฏต่อเขมร และตั้งอาณาจักรสุโขทัย เหนือขึ้นไป พญามังรายทรงตั้งอาณาจักรล้านนาในปี 1839 มีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงใหม่ ทรงรวบรวมแว่นแคว้นขึ้นในแถบลุ่มแม่น้ำปิง ส่วนบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีการตั้งสหพันธรัฐในบริเวณเพชรบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรีและอยุธยาในคริสต์ศตวรรษที่ 11 นักประวัติศาสตร์กระแสหลักมักเลือกนับสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของคนไทย
อาณาจักรอยุธยาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1893 ต่อมาเป็นใหญ่แทนจักรวรรดิเขมร และแทรกแซงอาณาจักรสุโขทัยอย่างต่อเนื่องจนสุดท้ายถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงจัดการปกครองโดยแบ่งพลเรือนกับทหารและจตุสดมภ์ซึ่งบางส่วนใช้สืบมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงริเริ่มระบบเจ้าขุนมูลนาย ทำให้ประชากรส่วนใหญ่เป็นไพร่ใช้แรงงานปีละ 6 เดือน กรุงศรีอยุธยาเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตกเมื่อ พ.ศ. 2054 หลังจากนั้นในปี 2112 กรุงศรีอยุธยาตกเป็นประเทศราชของราชวงศ์ตองอูแห่งพม่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพในอีก 15 ปีให้หลัง กรุงศรีอยุธยายังติดต่อกับชาติตะวันตก จนรุ่งเรืองถึงขีดสุดในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความขัดแย้งภายในติด ๆ กันหลายรัชกาลในราชวงศ์บ้านพลูหลวง และการสงครามกับราชวงศ์คองบอง (อลองพญา) จนส่งผลให้เสียกรุงครั้งที่สองเมื่อปี 2310 หลังจากนั้นบ้านเมืองแตกออกเป็นชุมนุมต่าง ๆ เจ้าตากทรงรวบรวมแผ่นดินและขยายอาณาเขต หลังเกิดความขัดแย้งช่วงปลายรัชกาล พระองค์และพระราชโอรสทั้งหลายทรงถูกสำเร็จโทษโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นในปี 2325
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาอำนาจปกครองเหนือประเทศลาวและกัมพูชาปัจจุบันและยุติสงครามกับพม่า ต่อมากรุงรัตนโกสินทร์ถูกครอบงำด้วยปัญหาความพยายามแผ่อิทธิพลของชาติตะวันตกโดยมีการบรรลุสนธิสัญญาต่าง ๆ เช่น สนธิสัญญาเบอร์นี สนธิสัญญาเบาว์ริง ตามด้วยสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมอีกหลายฉบับ เป็นการเริ่มต้นการทำให้ประเทศทันสมัยและกลายเป็นตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มการรวมศูนย์อำนาจแทนให้เจ้าท้องถิ่นปกครองแบบเดิม เลิกทาสและไพร่ และจัดระเบียบการปกครองแบบกระทรวง มีการยอมแลกดินแดนหลายครั้งเพื่อแลกกับการแก้ไขสนธิสัญญาต่าง ๆ ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประเทศสยามถือฝ่ายสัมพันธมิตร
ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ไม่เป็นผล มีส่วนให้เกิดการปฏิวัติในปี 2475 อันนำมาซึ่งการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและทำให้คณะราษฎรมีบทบาททางการเมือง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยถูกญี่ปุ่นบุกครองและลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น หลังสงครามยุติในปี 2488 ประเทศไทยสามารถบอกเลิกสถานะสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำให้ไม่ตกอยู่ในสภาพผู้แพ้สงคราม ระหว่างสงครามเย็น ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐเต็มตัว และรัฐประหารในปี 2500 ทำให้คณะราษฎรหมดอำนาจและมีการรื้อฟื้นพระราชอำนาจ สงครามเวียดนามเร่งให้เกิดการพัฒนาและความเหลื่อมล้ำในประเทศ ทำให้เกิดการสำนึกทางการเมืองของชนชั้นกลาง "เหตุการณ์ 14 ตุลา" ปี 2516 นำมาซึ่ง "ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน" ช่วงสั้น ๆ ซึ่งสิ้นสุดลงด้วยรัฐประหารในปี 2519 การก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ยุติในปี 2523
ขณะเดียวกันระบอบการปกครองของไทยสลับกันระหว่างเผด็จการทหารและประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอยู่เรื่อย ๆ เศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงเฉียบพลัน ในพุทธทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยตกอยู่ในวิกฤตการณ์การเมืองระหว่างฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านทักษิณ ชินวัตรเป็นหลัก โดยมีรัฐประหารล่าสุดในปี 2557
การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยการแบ่งยุคสมัย
การจัดแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ของไทยนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแสดงพระทัศนะไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง "ตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร" ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเมื่อ พ.ศ. 2457 ถึงการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของไทยไว้ว่า "เรื่องพระราชพงศาวดารสยาม ควรจัดแบ่งเป็น 3 ยุค คือ เมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานียุค 1 เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานียุค 1 เมื่อกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานียุค 1"[1] ซึ่งการลำดับสมัยทางประวัติศาสตร์แบบเส้นตรง (Linear) โดยวางโครงเรื่องผูกกับกำเนิดและการล่มสลายของรัฐ กล่าวคือใช้รัฐหรือราชธานีเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ ยังคงมีอิทธิพลอยู่มากต่อการเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบัน
นักวิชาการให้เหตุผลในการเลือกเอาอาณาจักรสุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทยไว้ 2 เหตุผล ได้แก่ 1) วิชาประวัติศาสตร์มักยึดการเริ่มมีภาษาเขียนเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ เมื่อประกอบกับการประดิษฐ์อักษรไทยในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จึงเหมาะสมเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทย และ 2) สะดวกในการนับเวลาและเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน เพราะนักประวัติศาสตร์มีหลักฐานความสืบเนื่องกันตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน ทว่า เหตุผลทั้งสองประการก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันอย่างเป็นเอกฉันท์นัก[2]
ในปัจจุบัน มีข้อเสนอใหม่ ๆ เกี่ยวกับโครงเรื่องประวัติศาสตร์ไทยขึ้นมาบ้าง ที่สำคัญคือ ศ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้เสนอถึงหัวข้อสำคัญที่ควรเป็นแกนกลางของประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยไว้ 8 หัวข้อ[a]
ปัญหาการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย
สุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการประวัติศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยเป็นประวัติศาสตร์ของราชสำนัก ตัดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่าง ๆ ออกไปหมด[4]
การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยยังถูกตั้งคำถามว่าเป็นการยัดเยียดให้นักเรียนเกิดความรักชาติ และมีเวลาเรียนถึง 1,200 ชั่วโมงต่อปีซึ่งมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก[5] รวมทั้งมีการปลูกฝังอคติเกลียดชังประเทศเพื่อนบ้าน[6]
ยุคก่อนประวัติศาสตร์และรัฐโบราณในประเทศไทยบทความหลัก: ประวัติศาสตร์ไทยช่วงต้นหลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์เครื่องปั้นดินเผาวัฒนธรรมบ้านเชียง 1200-800 ปีก่อน ค.ศ.
นักโบราณคดีชาวฮอลันดา ดร. เอช. อาร์. แวน ฮิงเกอเรน ได้ขุดค้นพบเครื่องมือหินเทาะซึ่งทำขึ้นโดยมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณใกล้สถานีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีข้อสันนิษฐานว่ามนุษย์เหล่านี้อาจเป็น มนุษย์ชวาและมนุษย์ปักกิ่ง[7] ซึ่งอยู่อาศัยเมื่อประมาณ 5 แสนปีมาแล้ว อันเป็นหลักฐานในยุคหินเก่า